สีจากธรรมชาติสำหรับทำขนมไทยโบราณ

สีจากธรรมชาติ

การทำขนมหวานไทยให้น่ารับประทาน และสะดุดตาผู้บริโภค  สีของขนมสามารถดึงดูดใจของลูกค้าได้เป็นอย่างดีการทำขนมหวานไทยใช้สีอ่อน ๆ จะทำให้ขนมสวย ผู้ประกอบขนมหวานไทยควรใช้สีที่ได้จากธรรมชาติของพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสีอาหารมากชนิดที่อาจมีอันตราย ต่อร่างกายของผู้บริโภค

  • ใบเตย ให้สีเขียวมีลักษณะใบยาวเรียว สีเขียวจัด มีกลิ่นหอม โคนใบมีสีขาวนวล ลักษณะ เป็นกอ ใบแก่มีสีเขียวจัด ให้กลิ่นหอมมาก  ใบเตยมีสองชนิด คือ  เตยหอม และ เตยไม่หอม การเลือกใช้นิยมใช้ใบเตยหอมที่มีกอใหญ่ มีใบโต ไม่มีแมลงเจาะ วิธีการคั้นน้ำใบเตย หั่นใบเตยเป็นฝอย แล้วโขลกให้ละเอียด ใส่น้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำเตยออกให้เข้มข้นที่สุด กรองด้วยผ้ากรอง พยายามอย่าให้กากใบเตยหล่นลงไปในน้ำที่กรองแล้ว
  • กาบมะพร้าว ให้สีดำใช้กาบมะพร้าวแก่เผาไฟให้ไหม้จนเป็นสีดำทั้งอันใส่น้ำคั้น กรองด้วยผ้ากรองเอากากออกให้หมด
  • ขมิ้น ให้สีเหลืองขมิ้นเป็นพืชล้มลุกมีหัวใต้ดินลักษณะเป็นแง่ง คล้ายขิง สีเหลือง มีกลิ่นหอมใช้ผสมกับขนมที่ต้องการให้มีสีเหลือง วิธีการใช้ทุบขมิ้นให้แตก ห่อผ้าแล้ว นำไปแช่กับน้ำให้ออกสี
  • ดอกอัญชัน ให้สีม่วงคราม เป็นพืชไม้เลื้อยมีดอกสีม่วงคราม ลักษณะคล้ายดอกถั่ว ตรงปลายสีม่วงคราม ตรงกลางสีเขียว เวลาใช้ให้เลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นสีม่วง วิธีการ ใช้ใส่น้ำเดือดเล็กน้อย  แช่ดอกอัญชัน สักครู่คั้นให้ออกสีคราม กรองเอากากออก หยดน้ำมะนาวลงไปสีจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง
  • ดอกดินให้สีดำ เป็นพืชชนิดหนึ่ง จะมีตอนหน้าฝน ดอกปนกับรากไม้ชนิดอื่นเช่น ราก
    อ้อย รากหญ้าคา ดอกดินโผล่ออกจากดินมีสีม่วงเข้ม กลีบดอกรี ๆ ใช้ผสมกับแป้ง ทำขนมดอกดิน
  • หญ้าฝรั่ง ให้สีเหลือง เป็นพืชชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายเกสรดอกไม้ตากแห้ง มีกลิ่นหอมเมื่อนำมาใช้ชงกับน้ำร้อนแล้วกรองเอากากออกใช้แต่น้ำ
  • ครั่ง จะได้สีแดง ใช้รังครั่งมาแช่น้ำ ถ้าต้องการสีแดงคล้ำ เติมสารส้มลงไปเล็กน้อย
  • กระเจี๊ยบ จะได้สีแดงเข้ม ใช้ส่วนที่เป็นกลีบหุ้มผลนำมาต้มกับน้ำ
  • เกสรดอกคำฝอย จะได้สีเหลือง ใช้แช่ในน้ำร้อน กรองเอาแต่น้ำ

ประวัติขนมทองม้วน

ทองม้วน
ภาพจาก http://wass23.blogspot.com

ทองม้วน เป็นขนมไทยแต่โบราณมีประวัติที่ยาวนานพอสมควร
เริ่มต้นจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ อย่างกลุ่มทวีปทางตะวันออกและตะวันตก ทำให้ประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เข้ามา สิ่งหนึ่งที่ได้รับมานั่นคือ ขนมและของหวาน ซึ่งส่วนมากขนมต่างๆมากมาย รวมทั้ง “ทองม้วน” ต่างมีต้นกำเนิดจากการรับเอาวัฒนธรรมของประเทศ โปรตุเกส มาดัดแปลง เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับ วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ วัตถุดิบ ข้าวของเครื่องใช้ เอกลักษณ์ รสนิยม และอุปนิสัยในการบริโภคอาหารของประเทศไทยเราเองครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีบาทหลวงชางฝรั่งเศส ชื่อ “เดอโลลีเยร์” ได้ทำบันทึกรายงานถึงระดับความมีหน้ามีตา และรสนิยมการบริโภคขนมหวานของชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งราชสำนักสยามถึงกับต้องเกณฑ์ขนมหวานจาก หมู่บ้านโปรตุเกส เข้าไปในพระราชวัง เนื่องในโอกาสฉลองวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ดังความตอนหนึ่งว่า

“พวกเข้ารีตบางครัว ต้องถูกเกณฑ์ให้ทำของหวานแก่พระเจ้าแผ่นดิน ในวันนักขัตฤกษ์ ในวันชนิดนี้พระเจ้ากรุงสยามก็มีรับสั่งให้พวกเข้ารีตนี้ ทำของหวานเป็นอันมาก อ้างว่าสำหรับงานนี้งานนั้น เป็นต้นว่า สำหรับพิธีล้างศีรษะช้าง ซึ่งถือว่าเป็นพระองค์หนึ่ง หรือสำนักงานไหว้พระพุทธบาท”ชาวตะวันตกอีกผู้หนึ่งที่บันทึกการเดินทางเกี่ยวกับเรื่องของ ท้าวทองกีบม้าว่า  “ท้าวทองกีบม้า” ได้สอนการทำขนมหวานจำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ทองม้วน ขนมฝรั่ง ขนมไข่เต่า ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง ขนมผิงและอื่นๆ ให้กับผู้ที่ทำงานอยู่กับเธอ และบุคคลเหล่านั้น จึงได้นำวิชาความรู้ในการทำขนมต่างๆมาถ่ายทอดให้กับคนไทยรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

เสน่ห์ขนมไทย โบราณ

“ขนม” เป็นของกินเล่นยามว่าง เป็นอาหารเบา ๆ มีหลากหลายชนิด หลายรสชาติ หลายรูปแบบ ขนมมีอิทธิพลต่อการกินและชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก คำว่า “ขนม” มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า “ขนมไทย” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ ” ไข่กบ นกปล่อย มะลิลอย อ้ายตื้อ ” ผู้หลักผู้ใหญ่คนโบราณ ได้อธิบายความหมายของขนมเหล่านี้ไว้ว่า ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลักที่แช่น้ำจนโป่งพองดูคล้ายไข่กบ นกปล่อย หมายถึง ลอดช่องไทย ที่กดผ่านตะแกรงรู หลุดลอดลงมาเป็นตัวคล้ายกับนกปล่อยของเสีย มะลิลอย หมายถึง ข้าวตอก ที่เป็นแผ่นแบบสีขาว ดูคล้ายมะลิลอยน้ำ อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียวดำนึ่งสุก ขนมทั้งสี่ชนิดนี้ ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ “น้ำกะทิ” เคี่ยวกับน้ำตาลโตนด เวลาเสิร์ฟจะเสิร์ฟเป็นถ้วย ๆ แยกกัน 4 ชนิด ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม 4 อย่างนี้ว่า “ประเพณีกิน 4 ถ้วย”

“ขนมไทย” เป็นขนมที่เกิดจากฝีมือล้วน ๆ เป็นของหวานที่มักทำและรับประทานกันในครัวเรือน มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ มีวิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทานที่ปราณีตบรรจงของขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้น ๆ ขนมไทยทั่วไปจะมีความหวานนำ หรือมีความหวานจนรู้สึกในลิ้นของผู้รับประทาน การทำขนมไทยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและฝึกฝน ต้องใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ความอดทน และความเป็นระเบียบ ความพิถีพิถันในการประกอบ

ของหวานไทยหรือขนมไทย กล่าวได้ว่ามีอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เพราะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ บ่งบอกว่า คนไทยเป็นคนมีลักษณะนิสัยอย่างไร เนื่องด้วยขนมไทยแต่ละชนิด ล้วนมีเสน่ห์  มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป  แต่แฝงไว้ด้วยความละเมียดละไม  ความวิจิตรบรรจง   ขนมไทยยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่าคนทำเป็นคนใจเย็น     มีฝีมือเชิงศิลปะ  จากขนมธรรมดาๆ ที่มีส่วนประกอบเพียงแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว สามารถดัดแปลงเป็นขนมได้หลายชนิด  หลายรสชาติ  ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระที่สำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่า งานบุญ  งานแต่งงาน  งานเทศกาลต่าง ๆ  หรืองานต้อนรับแขกคนสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคน ทั้งต้องอาศัยเวลาในการทำพอสมควร