ขนมอาลัวชื่อเสียงยาวนานพร้อมความอร่อยของชาววัง

วุ้นกรอบ อลัวดอกกุหลาบ

หากพูดถึงขนมไทย หลายๆ คนคงคิดถึงขนมจำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
หรือแม้แต่ขนมตระกูลทองต่างๆ นี่ยังไม่รวมพวก ข้าวต้มมัด ขนมใส่ไส้ และอื่นๆอีกมากมาย แต่เรามั่นใจว่า ตามร้านขนมมักจะมีขนมอีกหนึ่งประเภท ที่มักจะวางไว้ในแผงขายขนม ซึ่งขนมที่ว่า จะมีลักษณะเป็นขนมเม็ดเล็กๆ หลากหลายสีสัน บรรจุกล่อง หากมองด้วยตาเปล่า จะให้ความรู้สึกแข็ง แต่เรามั่นใจว่ามันจะอร่อย และหลายๆคนจะต้องสังเกตเห็น แต่มั่นใจว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักชื่อของเจ้าขนมนี้ เราจึงอยากจะมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกัน นั่นก็คือ ขนมอาลัว

ขนมอลัวดอกกุหลาบขนมอาลัวเป็นขนมหวานที่มีกระบวนการทำจากแป้ง ซึ่งผิวด้านนอกจะมีลักษณะเป็นน้ำตาลแข็งๆ ส่วนด้านในนั้นจะเป็นแป้งหนืด โดยส่วนใหญ่จะนิยมทำเป็นอันเล็กๆ และต้องมีหลายสี และมีกลิ่นหอมหวาน ซึ่งความหมายของชื่ออาลัวนั้นคือเสน่ห์ดึงดูดใจ ต้นกำเนิดของขนมอาลัวนี้มาจากประเทศโปรตุเกส ซึ่งได้นำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยคุณท้าวทองกีบม้า หรือ เลดี้ฮอร์ เดอควีมาร์ ซึ่งเป็นภริยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสที่เข้ามารับราชการในราชสำนัก ซึ่งขนมอาลัวในสมัยนั้น แบ่งได้เป็นสองชนิด คือ อาลัวชาววัง และ อาลัวจิ๋ว ซึ่งอาลัวชาววังนั้น จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า และมีส่วนผสมของกะทิมากกว่าอาลัวจิ๋ว แต่ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้ ขนมอาลัวก็ได้กลายเป็นขนมสัญชาติไทยไปอย่างสมบูรณ์แล้ว

เสน่ห์ขนมไทย โบราณ

“ขนม” เป็นของกินเล่นยามว่าง เป็นอาหารเบา ๆ มีหลากหลายชนิด หลายรสชาติ หลายรูปแบบ ขนมมีอิทธิพลต่อการกินและชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก คำว่า “ขนม” มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า “ขนมไทย” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ ” ไข่กบ นกปล่อย มะลิลอย อ้ายตื้อ ” ผู้หลักผู้ใหญ่คนโบราณ ได้อธิบายความหมายของขนมเหล่านี้ไว้ว่า ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลักที่แช่น้ำจนโป่งพองดูคล้ายไข่กบ นกปล่อย หมายถึง ลอดช่องไทย ที่กดผ่านตะแกรงรู หลุดลอดลงมาเป็นตัวคล้ายกับนกปล่อยของเสีย มะลิลอย หมายถึง ข้าวตอก ที่เป็นแผ่นแบบสีขาว ดูคล้ายมะลิลอยน้ำ อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียวดำนึ่งสุก ขนมทั้งสี่ชนิดนี้ ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ “น้ำกะทิ” เคี่ยวกับน้ำตาลโตนด เวลาเสิร์ฟจะเสิร์ฟเป็นถ้วย ๆ แยกกัน 4 ชนิด ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม 4 อย่างนี้ว่า “ประเพณีกิน 4 ถ้วย”

“ขนมไทย” เป็นขนมที่เกิดจากฝีมือล้วน ๆ เป็นของหวานที่มักทำและรับประทานกันในครัวเรือน มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ มีวิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทานที่ปราณีตบรรจงของขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้น ๆ ขนมไทยทั่วไปจะมีความหวานนำ หรือมีความหวานจนรู้สึกในลิ้นของผู้รับประทาน การทำขนมไทยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและฝึกฝน ต้องใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ความอดทน และความเป็นระเบียบ ความพิถีพิถันในการประกอบ

ของหวานไทยหรือขนมไทย กล่าวได้ว่ามีอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน เพราะเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ บ่งบอกว่า คนไทยเป็นคนมีลักษณะนิสัยอย่างไร เนื่องด้วยขนมไทยแต่ละชนิด ล้วนมีเสน่ห์  มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป  แต่แฝงไว้ด้วยความละเมียดละไม  ความวิจิตรบรรจง   ขนมไทยยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่าคนทำเป็นคนใจเย็น     มีฝีมือเชิงศิลปะ  จากขนมธรรมดาๆ ที่มีส่วนประกอบเพียงแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว สามารถดัดแปลงเป็นขนมได้หลายชนิด  หลายรสชาติ  ในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระที่สำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่า งานบุญ  งานแต่งงาน  งานเทศกาลต่าง ๆ  หรืองานต้อนรับแขกคนสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคน ทั้งต้องอาศัยเวลาในการทำพอสมควร